การลดน้ำหนักโดยวิธีควบคุมอาหาร

               ในปัจจุบันคนไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินจนกลายเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น ถึงแม้ว่าความอ้วนเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงเกิดจากการบริโภคเกินความสามารถในการเผาผลาญของตนเอง อย่างไรก็ตามในการลดน้ำหนัก แพทย์จำเป็นต้องขจัดสาเหตุที่ก่อโรคอ้วนนั้นด้วยการรักษาจึงจะได้ผลดี เช่นโรค hypothyoid หรือ cushing syndrome และยาอีกหลายชนิด ฯลฯ ชาวเอเชียเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนได้ง่ายกว่าชาวยุโรป ถึงแม้ว่าคนไทยยังไม่อ้วนมากนัก แต่ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็สูงกว่าชาวยุโรป อีกทั้งการรักษา ภาวะแทรกซ้อน ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังที่เป็นอยู่ ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น พบว่าน้ำหนักยิ่งมากก็ยิ่งประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักได้น้อย จึงได้มีผู้พยายามคิดค้นวิธีการต่าง ๆ หลายอย่างเพื่อที่ช่วยให้การลดน้ำหนักให้สำเร็จ ตั้งแต่การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนบริโภคนิสัย ส่วนการใช้ยานั้นเป็นตัวส่งเสริมให้การปฏิบัติตัวได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในระยะต้นของการลดน้ำหนัก สำหรับการผ่าตัดนั้นจะใช้ต่อเมื่อวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผลและผู้ป่วยอ้วนมาก หรือมีปัญหาสุขภาพที่ต้องการลดน้ำหนักอย่างได้ผลรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะปัญหาแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมีหลายอย่างและอาจจะร้ายแรง


                การอดอาหารเลยทำให้น้ำหนักตัวลดได้ดีและรวดเร็ว แต่จะมีผลทำให้ร่างกายเสียโปรตีนและสารอาหารสำคัญอื่น ออกจากอวัยวะที่สำคัญของร่างกายจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ประสบการณ์ในอเมริกาพบว่า แม้ให้ดื่มอาหารเหลวที่เป็นโปรตีน (Liquid protein diet) ซึ่งได้จากการย่อยพวก คอลลาเจน ทุกวันเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งคิดว่ามีโปรตีนมากพอก็ยังมีผู้เสียชีวิตเกือบ 60 คน การควบคุมอาหารยังเป็นวิธีการในการรักษาคนอ้วน ซึ่งอาหารที่ใช้กันมีหลายชนิด โดยมีหลักการเหมือนกันคือ ปริมาณพลังงานที่รับเข้าต้องน้อยกว่าพลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวัน

 

                  อาหารควบคุมน้ำหนักสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ อาหารพลังงานต่ำ (low calorie diets) ซึ่งให้พลังงานต่อวันระหว่าง 10 - 20กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวหรือให้พลังงานประมาณ 800 - 1000 กิโลแคลอรี่ ซึ่งมีการกระจายตัวของสารอาหารคล้าย ๆ กับอาหารธรรมดาและอาหารพลังงานต่ำมาก (very low calorie diets) ซึ่งมีพลังงานต่อวันน้อยกว่า 10 กิโลแคลอรี่ ต่อ กิโลกรัมน้ำหนักตัว หรือให้พลังงานน้อยว่า 800 กิโลแคลรีต่อวันโดยทั่วไปอยู่ประมาณ 400 - 600 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ซึ่งมีการกระจายตัวของสารอาหารอย่างไม่สมดุลย์ จึงเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นบางชนิด ถึงแม้ว่ามีการให้โปรตีนมากและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่มีแพทย์ดูแลใกล้ชิด


              ดังนั้นการให้กินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำและมีส่วนผสมของ โปรตีนที่มีคุณภาพดี มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตรวมทั้งมีวิตามินและเกลือแร่ที่พอเหมาะ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้น้ำหนักลดได้ดีและปลอดภัย ผู้ป่วยจำเป็นต้องทราบความรู้เบื้องต้นว่าอาหารชนิดใดกินได้มาก ชนิดใดกินได้น้อย ชนิดใดให้ประโยชน์ ชนิดใดให้โทษอย่างไร แพทย์ต้องให้โอกาสและเวลาแก่ผู้ที่มารับคำแนะนำพอสมควร


                 ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องปรับและควบคุมบริโภคนิสัย ของผู้ป่วยการกินที่เหมาะสม ต้องเริ่มด้วยการลดพลังงานของอาหารที่กินประจำลง จากเดิมวันละ 500 - 1000 แคลอรี่ แบ่งอาหารให้กระจายพอ ๆ กันทั้งวัน ไม่ควรงดมื้ออาหาร แต่ควรงดอาหารระหว่างมื้อ ใช้น้ำมันให้น้อย ไม่ควรเกิน 20 - 30 % ของพลังงานทั้งวัน กินโปรตีนให้ได้ปริมาณ 15 % ของพลังงานทั้งวัน ที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรต งดแอลกอฮอล์ ผนวกกับการหาวิธีเพิ่มการเผาผลาญสารอาหาร ให้มากขึ้นโดยการออกกำลังกาย Bradifield และคณะได้แสดงให้เป็นว่าการเดิน 45 นาที ก่อนและหลังอาหารจะทำให้อัตราการเผาผลาญสูงอยู่ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง และถ้าออกกำลังกายอย่างหนัก อาจเพิ่มการเผาผลาญได้นานถึง 24 ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้น การวิ่งสลับเดินประมาณ 4 - 5กม.ทุกวันเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน ทำให้อัตราส่วนระหว่าง HDL choiesterol ต่อ LDL cholesterol สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสามารถระดับ triglycerides ลงได้ ซึ่งจะมีผลดีต่อการป้องกันเส้นโลหิตแข็ง อีกทั้งการทำงานของอินซูลินในการนำกลูโคสเข้าไปใช้ในเซลล์กล้ามเนื้อก็ดีขึ้น แม้การเคลื่อนไหวในระดับปานกลาง ก็มีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้ระดับการเผาผลาญลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าออกกำลังกายหนักก่อนกินอาหาร จะทำให้มีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก บางครั้งที่วิธีอดอาหารด้วยตัวเองไม่ได้ผลจึงต้องใช้ยาช่วย

   

นพ. สุรัตน์ โคมินทร์
หน่วยโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี